ฟาร์มบนหลังคาลอยฟ้า

การออกแบบที่ดินนั้นนอกเหนือจากการสร้างพื้นที่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแล้ว ยังมีองค์ประกอบอย่างอื่นที่ต้องดีไซน์ให้ควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นความงาม ความมั่นคงทางอาหาร สุภาพ สิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับผลงานของ กชกร วรอาคม สถาปนิกที่ออกแบบสิ่งแวดล้อมให้ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมได้อย่างยอดเยี่ยม โดยได้สร้างฟาร์มบนหลังคาลอยฟ้า เพื่อนำพื้นที่บนดาดฟ้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่ได้ใช้งานกว่า 236,806 ตารางฟุต มาสร้างประโยชน์จนเกิดเป็นฟาร์มออร์แกนิกบนดาดฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านสถาปัตยกรรม ซึ่งความเจ๋งอยู่ที่ดีไซน์ออกมาในรูปแบบของหลังคาลดหลั่นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนาขั้นบันไดแบบดั้งเดิม เพื่อช่วยเรื่องน้ำท่วม การพังทลายของหน้าดิน ลดมลพิษทางอากาศ ไปจนถึงการใช้ระบบน้ำใต้ดินเข้ามาช่วยจนสามารถสร้างพื้นที่ธรรมชาติ สวนผักกินได้ ปลอดภัยไร้สารเคมี เกิดเป็นเมืองสุขภาพดีได้อย่างสวยงาม นั่นแสดงให้เห็นว่าการออกแบบภูมิทัศน์ไม่ได้สำคัญแค่สำหรับมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึง แมลง นก น้ำ อากาศ และองค์ประกอบทางธรรมชาติอื่นๆ ที่นักออกแบบควรนำไปร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังเช่นธรรมศาสตร์ดาดฟ้า ดีไซน์นาในเมืองแห่งนี้